วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

การศึกษาการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคาร
Study into Compliance with Ministerial Regulations in Identifying the Type of Factory Building in Amata City Industrial Estate, Rayong Province which must be Conducted by a Certified Building Inspector.




นายปราโมทย์ ชาญบัณฑิต
นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง pramote@amata.com, civil6967@gmail.com


บทคัดย่อ


กฎหมายควบคุมอาคารเป็นกฎหมายมหาชน มุ่งรักษาประโยชน์ ความสงบสุข และความเป็นระเบียบของสังคม โดยเน้นเรื่องงานอาคารเป็นหลัก เป็นกฎหมายที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อนำมาบังคับใช้หรือควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม มิให้เบี่ยงเบนออกจากกฎระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายการตรวจสอบอาคารที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นผลให้มีการยกระดับความสำคัญของการตรวจสอบอาคารให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงในส่วนของอาคารโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมซึ่งมีอาคารอยู่เป็นจำนวนมากและเสี่ยงต่อการส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้อาคารและในพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ และปลูกฝังทัศนคติในการใช้อาคารที่ได้รับการตรวจสอบอาคาร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการให้มากขึ้น

คำสำคัญ : การตรวจสอบอาคาร, การปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารโรงงาน, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้

Abstract


The Building Control Act as public law. The purpose of law is heal the advantage, peacefulness and the orderliness of the social. A state is defined to be enforced or control the behavior of members of society and shall not deviate from the rules. Various regulations under the laws of Building Inspection are effective in use today as a result, has elevated the importance of Building Inspection continues to rise. Including the building of factories in industrial estates where there are a lot of buildings and the risk of affecting to people who using the buildings and the neighborhood. Therefore, it is necessary to create and cultivate knowledge and understanding attitude to the building user to use the buildings that were inspected. To ensure the safety of building users more.


1. บทนำ
ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นแหล่งรวมของอาคารโรงงานหลายประเภท โดยอาคารโรงงานเหล่านี้มีคุณลักษณะและการใช้งานแตกต่างจากอาคารทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากอาคารโรงงานใช้เพื่อประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เครื่องจักรกล สารเคมีต่าง ๆ ที่ใช้ในกระบวนการผลิต อันอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและประชาชนที่ทำงานอยู่ในอาคารเหล่านั้นรวมถึงประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงได้ง่ายกว่าอาคารประเภทอื่น เมื่อประกาศกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ. ศ. 2548 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ. ศ. 2548 อาคารโรงงานซึ่งเป็นอาคาร 1 ใน 9 ประเภทที่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวจะต้องดำเนินการจัดหาผู้ตรวจสอบ และบำรุงรักษาโครงสร้าง รวมถึงระบบต่าง ๆ ของอาคารพร้อมทั้งจัดทำรายงานการตรวจสอบสภาพอาคารส่งให้กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามที่กฎหมายกำหนด

2. การตรวจสอบอาคารโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้
ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นแหล่งรวมของอาคารโรงงานหลายประเภท โดยอาคารโรงงานเหล่านี้มีคุณลักษณะและการใช้งานแตกต่างจากอาคารทั่วไป อาคารโรงงานโดยทั่วไปมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับคอยควบคุมการดำเนินการมากมายและเคร่งครัด ได้แก่ พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ. ศ. 2522 พระราชบัญญัติโรงงาน พ. ศ. 2535 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ. ศ. 2535 พระราชบัญญัติการผังเมือง พ. ศ. 2518 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ. ศ. 2541 พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ. ศ. 2535 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ. ศ. 2535 พระราชบัญญัติจดทะเบียนเครื่องจักร พ.ศ. 2514 โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดมีการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานของผู้ประกอบการทุกประเภทในการปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายรวมทั้งการดำเนิน งานที่เกี่ยวกับการสาธารณสุขหรือที่กระทบกระเทือนต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ. ศ. 2522 มาตรา 10 (4) แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 3) พ. ศ. 2539
ความสำคัญของการตรวจสอบอาคารมีสาเหตุมาจากการที่ เมื่อโครงการก่อสร้างอาคารเริ่มจนถึงแล้วเสร็จในระหว่างนั้นจะมีทั้งวิศวกรและสถาปนิกที่เกี่ยวข้องคอยทำการควบคุมการดำเนินการอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน แต่เมื่อถึงขั้นตอนการใช้งานอาคารไม่ได้มีกฎหมายหรือข้อบังคับที่ชัดเจนในการกำกับดูแลในส่วนนี้ ทำให้หลายอาคารมีระบบและอุปกรณ์ประกอบอาคารชำรุดเสียหายเนื่องจากขาดการบำรุงรักษารวมถึงทดสอบสมรรถนะอย่างเป็นระบบ ทำให้เมื่อถึงเวลาที่จะต้องใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นไม่สามารถใช้งานได้จนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินแก่เจ้าของอาคารและผู้ใช้อาคาร นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการใช้อาคารผิดประเภท การต่อเติมอาคารอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ รวมถึงการที่ไม่ได้มีการฝึกซ้อมอพยพเมื่อเกิดภัยต่าง ๆ เป็นต้น จากเหตุผลดังกล่าวทำให้กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบอาคารขึ้น

2.1 กฎหมายควบคุมอาคาร
กฎหมายควบคุมอาคารและกฎกระทรวงการตรวจสอบอาคารของกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นมาตรการเชิงป้องกัน โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ก็เพื่อให้เจ้าของอาคารมีหน้าที่ต้องจัดหาผู้ตรวจสอบอาคารด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรมมาทำการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของอาคาร อุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ เกี่ยวกับไฟฟ้าและการจัดการแสงสว่าง ระบบการเตือนการป้องกันและระงับอัคคีภัย การป้องกันอันตรายเมื่อมีเหตุชุลมุนวุ่นวาย ระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบเครื่องกล หรือระบบอื่น ๆ ของอาคารที่จำเป็นต่อการป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ ร่างกาย รวมถึงทรัพย์สินของประชาชนทั่วไปและเจ้าของอาคาร และให้เจ้าของอาคารต้องส่งรายงานผลการตรวจสอบสภาพอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่กฎหมายกำหนด


2.2 การแบ่งกลุ่มของอาคาร
กฎหมายควบคุมอาคารและกฎกระทรวงการตรวจสอบอาคารได้แบ่งแยกอาคารที่ต้องตรวจสอบออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
ก) กลุ่มอาคารที่ต้องตรวจสอบเร่งด่วนได้แก่ อาคารสาธารณะที่มีคนเข้าใช้พื้นที่จำนวนมาก เช่น อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ประเภทห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงมหรสพ ป้าย เป็นต้น โดยกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบให้แล้วเสร็จทุกอาคารของปีแรกภายใน 2 ปี (พ. ศ. 2550 ที่ผ่านมา)
ข) อาคารกลุ่มที่เป็นอาคารประเภทที่อยู่อาศัยรวม เช่น อาพาร์ทเม้น อาคารชุด เป็นต้น ให้ระยะเวลาในการตรวจสอบ 5 ถึง 7 ปี
ตามกฎกระทรวง ข้อ 1 (5) อาคารโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานที่มีความสูงมากกว่าหนึ่งชั้น และมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคาร

2.3 ปัญหาในการปฏิบัติตามกฎกระทรวง
ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้มีโรงงานเมื่อเดือนสิงหาคม พ. ศ. 2553 มีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุนจำนวน 133 โรงงาน โดยมีโรงงานที่เข้าข่ายตามกฎกระทรวงจำนวน 22 โรงงาน นับแต่วันที่ประกาศใช้กฎกระทรวงเรื่องการตรวจสอบอาคารตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม พ. ศ. 2548 ซึ่งได้มีการผ่อนผันและเริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ. ศ. 2551 เป็นต้นมา ปัญหาในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่ผ่านมาพบว่า
ก) มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ
ข) มีขั้นตอนในการดำเนินการที่ยุ่งยาก
ค) มีความซ้ำซ้อนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสภาพอาคารโรงงาน
ง) ข้อกำหนดหรือมาตรฐานในการตรวจสอบอาคารโรงงานยังไม่ชัดเจน
จ) การปฏิบัติตามกฎหมายตรวจสอบอาคารไม่สอดคล้องกับนโยบายทางด้านการเงินของบริษัท

2.4 แนวทางในการลดปัญหาในการปฏิบัติตามกฎกระทรวง
กฎหมายควบคุมอาคารเป็นกฎหมายมหาชน มุ่งรักษาประโยชน์ ความสงบสุข และความเป็นระเบียบของสังคม เมื่อกฎหมายควบคุมอาคารมีสภาพบังคับใช้ ผู้ที่อยู่ในบังคับของกฎหมายจำเป็นที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามถึงแม้จะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เนื่องจากกฎหมายมีการกำหนดโทษผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีระเบียบและสงบสุข
จากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบอาคารที่กล่าวถึงข้างต้นทำให้เกิดแนวคิดในการบริหารจัดการสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้มีการปฏิบัติตามกฎหมายตรวจสอบอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย คือ “มุ่งรักษาประโยชน์ ความสงบสุข และความเป็นระเบียบของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้” ภายใต้ชื่อ “PEACE” ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญในการบริหารจัดการ
ก) P มาจากคำว่า Participate หมายถึง การร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้ คือ กรมโยธาธิการและผังเมือง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และบริษัทผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมที่ร่วมดำเนินการกับกนอ. (บริษัท อมตะซิตี้ จำกัด) ในการบริการ สนับสนุน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้มีการปฏิบัติตามกฎหมายตรวจสอบอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข) E มาจากคำว่า Entrepreneurs หมายถึง การเน้นที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางในการบริการ
ค) A มาจากคำว่า Act หมายถึง การรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสภาพอาคารไว้เป็นฉบับเดียว
ง) C มาจากคำว่า Clear หมายถึง การมีเกณฑ์การตรวจอาคารโรงงานรวมถึงเกณฑ์การรายงานผลการตรวจสอบที่ชัดเจน
จ) E มาจากคำว่า Enforcement หมายถึง มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงซึ่งตัวอักษรย่อ “PEACE” นี้เป็นคำที่มีความหมายว่า “สันติภาพ ความสงบ ความเป็นสุข” เพื่อให้ง่ายที่จะจำและนำไปใช้เป็นหลักในการปฏิบัติได้โดยสะดวก




รูปที่ 1 แบบจำลองระบบการบริหารจัดการโดยใช้ PEACE




3. สรุป
โรงงานอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ที่เข้าข่ายตามกฎกระทรวงต้องดำเนินการภายใต้การบังคับของกฎหมายหลายฉบับโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบสภาพอาคารโรงงาน และเหตุที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมปฏิบัติตามกฎกระทรวงส่วนหนึ่งมีแรงจูงใจมาจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ และมีบทกำหนดโทษ รวมถึงผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมจะได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงได้แก่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่ใช้อาคาร ทางอ้อม คือ โอกาสทางธุรกิจในการที่จะลดความเสี่ยงต่ออุบัติภัยต่าง ๆ รวมถึงทัศนคติที่ดี จะก่อเกิดแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมเปิดใจที่จะรับรู้แล้วเกิดความเข้าใจในหลักการและเหตุผล เมื่อเกิดความเข้าใจในหลักการและเหตุผลของการตรวจสอบอาคารแล้วก็จะเกิดความใส่ใจเล็งเห็นถึงคุณค่าในการปฏิบัติตามกฎกระทรวงในที่สุด
หากผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ได้รับความรู้ในเรื่องของหลักการและเหตุผลในการตรวจสอบอาคารเพิ่มเติมอย่างละเอียดแล้ว รวมถึงมีเกณฑ์มาตรฐานในการตรวจสอบอาคารโรงงานที่ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้การปฏิบัติตามกฎกระทรวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

4. กิตติกรรมประกาศ
ผู้เขียนใคร่ขอขอบพระคุณผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรานนท์ คงสง อาจารย์สุรพล พงษไทยพัฒน์ และอาจารย์ ดร.กุลธน แย้มพลอย ที่ได้กรุณาสละเวลาในการให้ให้ความรู้ ให้ความช่วยเหลือ และคำแนะนำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการตรวจสอบอาคาร
ท้ายนี้ผู้เขียนใคร่ขอขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรานนท์ คงสง ที่ได้กรุณาให้โอกาสผู้เขียนได้ศึกษาเรื่องการศึกษาการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดประเภทอาคารโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคาร จึงทำให้เกิดบทความนี้ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เอกสารอ้างอิง
[1] กรมโยธาธิการและผังเมือง, สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร. 2551. พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ. ศ. 2522 และกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ. ศ. 2522. กรุงเทพมหานคร
[2] การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ฝ่ายกฎหมาย. ม.ป.ป. พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ. ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กฎกระทรวง ประกาศและข้อบังคับของคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย. กรุงเทพมหานคร
[3] บิช็อบคาร์ลอส ฟิลิเป ซีเมเนส เบโล. ม.ป.ป. การศึกษาเพื่อ สันติภาพ. แปลโดย เจนจิต กสิกิจธำรง และคณะ. มหาวิทยาลัยพายัพ, (ระบบออนไลน์). แหล่งที่มา http://peace-foundation. net.7host.com/pdf/2005-03-07/EducationForPeace.doc (6 พฤศจิกายน 2553)


ประวัติผู้เขียน
นายปราโมทย์ ชาญบัณฑิต คอ.บ. (โยธา) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล, วศ.ม. (การตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง บริษัท อมตะ ซิตี้ จำกัด

วันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สาร/วัตถุอันตรายที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค

ลักษณะงานที่รับผิดชอบ

งานพัฒนาก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคสำหรับนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง พื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่
- งานก่อสร้างระบบถนน
- งานก่อสร้างระบบระบายน้ำฝน
- งานก่อสร้างระบบระบายน้ำเสีย
- งานก่อสร้างระบบเส้นท่อส่งจ่ายน้ำประปา
- งานก่อสร้างระบบไฟฟ้า
- งานก่อสร้างระบบโทรศัพท์
- งานถมดินปรับระดับพื้นที่สำหรับขาย

ประเภทของสาร/วัตถุอันตรายที่เกี่ยวข้องกับงาน

งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคส่วนใหญ่สาร/วัตถุอันตรายที่พบเจอบ่อยที่สุดคือตัวทำละลายประเภททินเนอร์ ซึ่ง UN ได้จัดอยู่ในประเภทของเหลวไวไฟ (ไม่มีขั้ว/ไม่รวมกับน้ำ): Paint (Flammable) and Paint related material (Flammable): UN Number 1263: Guide Number 128

สถานที่และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาร/วัตถุอันตราย

งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคมีบางส่วนที่ต้องใช้ทินเนอร์ในงานอาทิเช่น งานทาสีเหล็ก Dowel bar สำหรับถนน งานทาสีเหล็กตระแกรงสำหรับระบบระบายน้ำฝนและระบบระบายน้ำเสีย งานทาสีเหล็กฉากประกอบฝาครอบบ่อพักต่างๆ งานทาสี Curb และป้ายจราจร โดยผู้รับเหมาจะดำเนินการในบริเวณพื้นที่เปิดโล่งหน้างาน หรือบริเวณโรงเชื่อมซึ่งเปิดโล่งเช่นกัน

ความเป็นพิษและอันตราย

ทินเนอร์มีส่วนผสมของตัวละลายอินทรีย์หลายตัวผสมรวมกันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งาน โดยทั่วไปในท้องตลาดทินเนอร์จะมีขายอยู่ 3 เกรด คือ A, AA และ AAA
จากเอกสารข้อมูลด้านความปลอดภัย (MSDS) ของทินเนอร์ที่ใช้ในงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคสำหรับนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง (บริษัท คาร์โก้เคมีเคิล จำกัด, http://www.carco.co.th/home/images/AA_Carwa.pdf) มีข้อมูลดังนี้

1. ชื่อผลิตภัณฑ์: ทินเนอร์ AA CARWA/ AA KSC
ชื่อผู้ผลิต, ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์: บริษัท คาร์โก้เคมิเคิล จำกัด เลขที่ 66/1 ถ.อ่อนนุช แขวงประเวศ กรุงเทพฯ 10250, หมายเลขโทรศัพท์ โรงงาน 038-595508-9 ออฟฟิศ 02-721-7999

2. ส่วนประกอบและข้อมูลส่วนผสม
สารเคมีอันตรายที่มีผลต่อสุขภาพร่างกาย

ชื่อสารเคมี อัตราส่วน สัญลักษณ์ ผลกระทบต่อร่างกาย
เมธิลไอโซบิวทิลคีโทน 1-5
ไซลีน 5-10 Xn R20, R21, R38
เอธิลเบนซิล 20-30 Xn R20
อัลคิลเบนซิล C9-C10 60-70

ข้อมูลความเป็นพิษ: ข้อมูลไม่เพียงพอในการยืนยัน ไอของตัวทำละลายที่มีความเข้มสูงกว่ามาตรฐานจะเป็นสาเหตุของการทำลายอวัยวะภายในระบบประสาทสูญเสิยความทรงจำ การระคายเคือง และหมดสติ ผลิตภัณฑ์ที่มีสารโคลทาร์ ซึ่งสามารถซึมเข้าผิวหนังได้ทำให้เกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะถ้าถูกแสงแดดด้วยการสัมผัสเป็นเวลานาน ทำให้ไขมันที่ผิวหนังถูกซะล้าง ทำให้เกิดผื่นคัน และซึมเข้าสู่ผิวหนัง ในกรณีที่สารเคมีเข้าสู่ร่างกายโดยการรับประทาน จะทำให้มีอาการปวดท้อง และหากถูกทำให้อาเจียนออกมาอาจทำให้สารเคมีเข้าสู่ปอดได้
ข้อมูลรายละเอียดของสารอันตราย: เป็นสารไวไฟ มีความไวไฟสูง ประกอบด้วย สารพิษไซลีน, อัลคิลเบนซิน C9-C10 มีอันตรายต่อระบบหายใจ ผิวหนังและร่างกายทำให้มีการระคายเคืองผิวหนัง

แนวทางการป้องกัน

ในการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับทินเนอร์ ผู้ผลิตแนะนำโดยแยกตามประเภทดังนี้
1. การป้องกันทางการหายใจ: เมื่อไอระเหยของสารเคมีมีความเข้มข้นมากกว่า TLV ควรใช้อุปกรณ์ช่วยในการหายใจ
2. การป้องกันสารเคมีโดยการสัมผัสทางมือ: ควรทาครีมหรือสวมถุงมือให้เหมาะสมไม่ควรใช้ครีมที่สามารถละลายได้ด้วยน้ำกับถุงมือยางหรือพลาสติก
3. การป้องกันสารเคมีทางตา: ควรสวมแว่นตา หรือหน้ากากป้องกันการกระเด็นของสารเคมี
4. การป้องกันทางผิวหนัง: ควรสวมชุดป้องกันสารเคมีเมื่อทำการพ่นสารเคมี
5. หากรับประทานเข้าไปก็ไม่ควรทำให้ผู้ป่วยอาเจียน ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลพร้อมทั้งนำฉลากหรือข้อมูลด้านความปลอดภัยของสารเคมี/วัตถุอันตรายไปด้วย

เอกสารอ้างอิง
[1] 2008 EMERGENCY RESPOND GUIDEBOOK (เรียงลำดับตาม UN Number). เว็บไซด์ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี <> http://www.chemtrack.org/UNNumber-List.asp
[2] เอกสารข้อมูลด้านความปลอดภัย. เว็บไซด์บริษัท คาร์โก้เคมิเคิล จำกัด <> http://www.carco.co.th/home/images/ AA_Carwa.pdf

วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

บทความการอนุญาโตตุลาการกับงานวิศวกรรม

บทนำ

กฎหมายอนุญาโตตุลาการของไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันได้รับแนวคิดมาจากกฎหมายแม่แบบว่าด้วยอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ ซึ่งกฎหมายแม่แบบดังกล่าวจัดทำขึ้นเพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้นำไปพิจารณาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ
ระบบอนุญาโตตุลาการเป็นวิธีการระงับยุติข้อพิพาทอย่างหนึ่งที่มีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่อมาได้มีการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศในเรื่องระบบอนุญาโตตุลาการขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าว ในขณะนั้นศาลยุติธรรมก็ให้หันมาความสำคัญกับระบบอนุญาโตตุลาการ โดยเห็นว่าเป็นทางเลือกทางหนึ่งของประชาชนในการยุติข้อพิพาทนอกจากการฟ้องคดีต่อศาล ศาลยุติธรรมจึงจัดตั้งสถาบันอนุญาโตตุลาการขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2533 และได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 20 ปี คดีที่เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการตั้งแต่ต้อนจนถึงปัจจุบันคิดเป็นทุนทรัพย์โดยรวมมีจำนวนมากกว่าสองแสนล้านบาท จากการที่ศาลยุติธรรมได้ยกร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการฉบับแรกคือ ฉบับ พ.ศ. 2530 ต่อมาได้ยกร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ ฉบับ พ.ศ. 2545 และในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ ฉบับ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน
ระบบอนุญาโตตุลาการเป็นระบบที่เข้ามาช่วยเสริมระบบของศาล ระบบอนุญาโตตุลาการจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาระบบของศาล กระบวนการอนุญาโตตุลาการหลายอย่างมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยอำนาจศาล เช่น การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ การขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระหว่างกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ การพิพากษาของศาลเพื่อบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เป็นต้น
ตามที่ได้เกริ่นนำมาแล้วข้างต้นว่าการอนุญาโตตุลาการเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่พิพาทซึ่งในปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางการพาณิชย์ระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นเนื่องจากคู่พิพาทมีอิสระในการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะมาเป็นอนุญาโตตุลาการในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของตนได้ ซึ่งอนุญาโตตุลาการนี้อาจเป็นบุคคลที่มีความรู้ความชำนาญในแวดวงธุรกิจหรือมีความรู้เฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาท และสามารถเลือกภาษาที่จะใช้ในการพิจารณาข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการตลอดจนถึงสถานที่ทำการอนุญาโตตุลาการซึ่งจะมีผลถึงกฎหมายที่จะนำมาปรับใช่แก่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ นอกจากนี้ขั้นตอนในการดำเนินกระบวนพิจารณาหรือวิธีพิจารณาความของอนุญาโตตุลาการยังขึ้นอยู่กับข้อตกลงของคู่พิพาทด้วย ซึ่งเป็นผลทำให้กระบวนพิจารณามีความยืดหยุ่นรวดเร็วและสามารถรักษาความลับทางธุรกิจของคู่พิพาท
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันประเทศได้เปิดตลาดการค้าเสรีมีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการสัญญาขนาดใหญ่ของรัฐ ซึ่งในสัญญาของโครงการร่วมทุน หรือสัมปทานขนาดใหญ่เหล่านี้มีสัญญาอนุญาโตตุลาการระบุไว้ในสัญญาทุกสัญญา ทั้งนี้ผู้ที่ลงทุนในธุรกิจระหว่างประเทศได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุญาโตตุลาการ
ในส่วนของงานวิศวกรรมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการประเภทใดก็ตามมักจะเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นได้ตลอดระยะเวลาถึงแม้งานเหล่านั้นจะเสร็จและสามารถใช้งานไปแล้วก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ค่อนข้างยากถึงแม้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะพยายามหาทางป้องกันไว้ตั้งแต่เริ่มโครงการแล้วก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาข้อขัดแย้งขึ้นหากคู่กรณีไม่สามารถสรุปหาข้อยุติในความขัดแย้งนั้นได้ก็จะเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้น ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนนี้วิธีวิธีการอนุญาโตตุลาการจึงได้ถูกกล่าวถึงและมีการนำมาใช้ในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในงานด้านวิศวกรรม อาทิเช่น โครงการสนามบินสุวรรณภูมิ โครงการทางด่วนต่างระดับ โครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน และโครงการสัมปทานต่างๆ ซึ่งโครงการเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรมเกือบทั้งหมด โดยในระหว่างการดำเนินการหลายโครงการประสบกับปัญหาข้อขัดแย้งที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้จนกลายเป็นข้อพิพาทเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น กรณีข้อพิพาททางด่วนต่างระดับบูรพาวิถี กรณีข้อพิพาทสัญญา ITV กรณีข้อพิพาทหวยออนไลน์
วิธีการอนุญาโตตุลาการนี้ได้รับการยอมรับกันในระดับสากลคือสามารถใช้ระบบนี้ได้ในกว่า 140 ประเทศ
ดังนั้นวิธีการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับบุคลากรทางด้านวิศวกรรมที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจถึงหลักการ วิธีการดำเนินการ ขั้นตอนต่างๆ ของระบบอนุญาโตตุลาการ รวมถึงศึกษากรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป
คณะผู้จัดทำได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบอนุญาโตตุลาการดังกล่าวข้างต้น จึงได้ศึกษาค้นคว้ารวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลที่ได้เป็นบทความอนุญาโตตุลาการกับงานวิศวกรรม โดยได้จัดแบ่งเป็น 6 บทความดังนี้
1. บทความ เรื่อง ความรู้เบื้องต้นของการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการ
จัดทำโดย นายปราโมทย์ ชาญบัณฑิต รหัสนักศึกษา 5214770149
2. บทความ เรื่อง ผู้เรียกร้องในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
จัดทำโดย นายวาสุเทพ ช่างสุวรรณ รหัสนักศึกษา 5214770219
3. บทความ เรื่อง ผู้คัดค้านในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
จัดทำโดย นายอภิสิทธิ์ อินจันทร์ รหัสนักศึกษา 5214770136
4. บทความ เรื่อง สัญญาทางปกครองกับการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ
จัดทำโดย นางสาววันดี พืชผา รหัสนักศึกษา 5214770297
5. บทความ เรื่อง กรณีศึกษา: การอนุญาโตตุลาการ ระหว่างส่วนราชการกับเอกชน สัญญาจ้างก่อสร้างขุดลอกหนองน้ำและคลองธรรมชาติ
จัดทำโดย นายนายธีรพงษ์ ปากเมย รหัสนักศึกษา 5214770079
6. บทความ เรื่อง กรณีศึกษา: ศาลฎีกายกฟ้องหวยออนไลน์งดจ่าย 2.5 พันล้านบาท
จัดทำโดย นายชัยพร พูลขันธ์ รหัสนักศึกษา 5214770042

วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

ความรู้เบื้องต้นของการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการ
The Introduction of Dispute Resolution by Arbitration.

นายปราโมทย์ ชาญบัณฑิต
นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการตรวจสอบและกฎหมายวิศวกรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง pramote@.amata.com, civil6967@gmail.com


บทคัดย่อ

การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคู่สัญญาที่ตกลงร่วมกันว่าจะใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีหลักการพื้นฐานคือ หลักความสมัครใจ หลักความเป็นอิสระ หลักชอบด้วยกฎหมาย สุจริต และยุติธรรม ในประเทศไทยการอนุญาโตตุลาการมีปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเมื่อ พ.ศ. 2477 จนถึงปัจจุบันมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550 กระบวนการอนุญาโตตุลาการมีข้อดี คือ สะดวก รวดเร็ว เชี่ยวชาญ เป็นความลับ ผลคำชี้ขาดเป็นที่สุดและบังคับได้ 140 ประเทศทั่วโลก ในสัญญาก่อสร้างของงานโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมีการกำหนดสัญญาอนุญาโตตุลาการหรืออาจกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลัก ปัจจุบันในวงการวิศวกรรมการอนุญาโตตุลาการยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องยังไม่ทราบถึงกระบวนการของการอนุญาโตตุลาการดีเท่าที่ควร

Abstract

The dispute resolution by using arbitration is one of the choices for both sides that they will agree to use it for their problems or future problems. The primary principals are willing to do it, having freedom to do it, and having the right to use the laws fairly and honesty. It has been appeared in Thailand Civil Code of Laws since 1934 until now. In 2007 had proposed act of Arbitration legislation and the advantage for using it is; easy, fast, expert, confidential. The award is blinding final and it has been enforcing for 140 countries worldwide. The contracts for Government Mega Projects have arbitrations to be part of the main agreement, too. Nowadays arbitration is not popular in engineering field, yet because the relating persons still don’t understand how to use it clearly.

คำสำคัญ: การระงับข้อพิพาท, การอนุญาโตตุลาการ, อนุญาโตตุลาการ, ข้อพิพาทในงานวิศวกรรม

1. บทนำ

ในงานวิศวกรรมเกือบทุกสาขา หรือแม้แต่กิจการธุรกิจการค้าอื่นๆ เมื่อมีสัญญาจ้างทำของเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างใหม่ ซ่อมแซมบำรุงรักษา หรือแม้แต่งานด้านที่ปรึกษา งานออกแบบและควบคุมงานก็ตาม ส่วนใหญ่ในท้ายสัญญามาตรฐานมักจะระบุไว้ว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นให้ใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมหลายท่านอาจสงสัยว่า การอนุญาโตตุลาการคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร แล้วหากเกิดกรณีพิพาทขึ้นในงานที่ตนเองรับผิดชอบจะต้องเริ่มต้นกระบวนการอย่างไร ในบทความนี้ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลความรู้เบื้องต้นของการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรม เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับบุคลากรทางด้านวิศวกรรม อาทิเช่น ความรู้ หลักการ การใช้วิธีการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการ ได้รับทราบพอเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป

2. ความรู้เบื้องต้นของการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ

2.1 การระงับข้อพิพาท (Dispute resolution)

กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยทั่วไปมี 2 กระบวนการคือ

  • กระบวนการทางการทูต (Diplomatic practice)
    - การเจรจา (Negotiation) เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่นิยมกันมากที่สุด การระงับข้อพิพาทอาจกระทำโดยผ่านสื่อกลางได้แก่ คณะทูต หรือเจรจากันโดยตรงระหว่างคณะทำงานหรือผู้บริหารของแต่ละหน่วยงาน
    - การไกล่เกลี่ย (Mediation) เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทโดยมีบุคคลที่สามเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเจรจา เพื่อให้คู่พิพาทได้เจรจาตกลงกันเพื่อระงับข้อพิพาท
    - การประนีประนอม (Conciliation) เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทโดยคู่พิพาทมอบหมายให้บุคคลที่สามทำการศึกษาข้อพิพาทในทุกแง่ทุกมุม และเสนอแนวทางในการยุติข้อพิพาท
    - การเอื้อเฟื้อออมชอม (Good offices) เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทโดยมีบุคคลที่สามพยายามจัดการให้มีกระบวนการเจรจาให้คู่พิพาทได้เจรจากัน
  • กระบวนการทางยุติธรรม (Judicial practice)
    - การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) ได้แก่การพิจารณาตัดสินข้อพิพาทโดยบุคคลหนึ่งหรือคณะหนึ่ง ซึ่งคู่พิพาทเลือกและตั้งให้ทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการด้วยความเห็นชอบร่วมกัน
    - การระงับข้อพิพาทโดยศาลยุติธรรม (Judicial settlement) ได้แก่ กรณีที่ข้อพิพาทระหว่างคู่พิพาทได้รับการพิจารณาพิพากษาตามเขตอำนาจศาลยุติธรรม โดยคำพิพากษาของศาลยึดหลักกฎหมายและก่อให้เกิดพันธกรณีแก่คู่พิพาท

2.2 การอนุญาโตตุลาการ (Arbitration)

เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาททางเพ่งวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ และมีการนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการค้าการลงทุนมาเป็นเวลานานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ โดยระบบอนุญาโตตุลาการเป็นระบบทางกฎหมายอย่างหนึ่งที่คู่พิพาทที่เกิดข้อพิพาทได้ตกลงกันไว้ด้วยการทำเป็นสัญญาเรียกว่า “สัญญาอนุญาโตตุลาการ (Arbitration agreement)” สัญญาอนุญาโตตุลาการนี้อาจเป็นข้อสัญญาหนึ่งในสัญญาหลักก็ได้ มีใจความเป็นการเสนอข้อพิพาทของตนที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยแต่งตั้งบุคคลที่สามที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง มีความรู้ในเรื่องที่พิพาทที่คู่พิพาทเชื่อถือและยอมรับให้เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยคู่พิพาททั้งสองฝ่ายมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดตามระเบียบของการอนุญาโตตุลาการ

2.3 อนุญาโตตุลาการ (Arbitrator)

อนุญาโตตุลาการ คือ บุคคลภายนอกที่เป็นอิสระและเป็นกลางไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับคู่พิพาท มีความรู้ความชำนาญในเรื่องที่พิพาทที่คู่พิพาทแต่งตั้งขึ้นเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาทของตน ส่วนอนุญาโตตุลาการจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าในข้อตกลงระหว่างคู่พิพาทได้มีการกำหนดไว้หรือไม่ว่าผู้ที่จะเป็นอนุญาโตตุลาการได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เช่น อาจกำหนดว่าต้องจบการศึกษาทาง นิติศาสตร์ การบัญชี วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น แต่หากไม่มีกำหนดไว้โดยเฉพาะคู่พิพาทก็อาจแต่งตั้งใครก็ได้ที่ตนเห็นว่าเหมาะสม แต่อาจมีบางกรณีที่ศาลจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ เมื่อคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นคู่พิพาทอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องร้องขอต่อศาลให้ทำการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการแทน จึงจะทำให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการดำเนินการต่อไปได้

2.4 หลักการพื้นฐานของการอนุญาโตตุลาการ

  • หลักความสมัครใจ คู่พิพาทที่ต้องการแก้ไขระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการจะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจยินยอมด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย แม้คู่พิพาทจะทำสัญญาโดยมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการอยู่แล้วก็ตาม เมื่อเกิดกรณีพิพาทหากไม่มีคู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสนอให้นำข้อพิพาทสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการแล้ว คณะกรรมการอนุญาโตตุลาการก็จะไม่รับพิจารณากรณีดังกล่าว
  • หลักความเป็นอิสระ การอนุญาโตตุลาการจะดำเนินการโดยอิสระ ไม่อยู่ภายใต้การแทรกแซงของฝ่ายปกครอง กลุ่มจัดตั้งหรือบุคคลใดๆ
  • หลักชอบด้วยกฎหมาย หลักความสุจริตและเป็นธรรม กฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ กำหนดให้การอนุญาโตตุลาการจะต้องพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาท โดยยึดหลักพิจารณาตามข้อเท็จจริง ถูกต้อง ตามข้อกำหนดของกฎหมาย และให้มีความเที่ยงธรรมต่อคู่พิพาท

2.5 วิวัฒนาการของการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทย

การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการในประเทศไทยเท่าที่ปรากฏหลักฐานพบว่า ในกฎหมายตราสามดวงมีการบัญญัติเกี่ยวกับการแต่งตั้งตระลาการโดยคู่ความ ซึ่งแตกต่างจากตระลาการที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ประเทศไทยมีกฎหมายรองรับระบบอนุญาโตตุลาการมาตั้งนานแล้ว เริ่มตั้งแต่มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเมื่อ พ.ศ. 2477 แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก จนเมื่อสมาคมหอการค้าไทยได้จัดตั้งและเผยแพร่ระบบอนุญาโตตุลาการ ในขณะนั้นมีหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานราชการบางหน่วยได้เลือกใช้ระบบอนุญาโตตุลาการของสมาคมหอการค้าไทย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2530 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 โดยแยกอนุญาโตตุลาการออกจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และศาลยุติธรรมได้จัดตั้งสถาบันอนุญาโตตุลาการขึ้นโดยอยู่ในความดูแลของศาลยุติธรรมและประกาศใช้ข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยการอนุญาโตตุลาการ ปัจจุบันได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นการส่งเสริมการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการแทนการระงับข้อพิพาทในศาล

2.6 ประโยชน์ของการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ

  • ความสะดวก คู่พิพาทสามารถกำหนดวิธีการพิจารณาและขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ได้
  • ความรวดเร็ว ศาลยุติธรรมในประเทศมักจะมีปริมาณคดีมากและอาจใช้เวลานานหลายปีในการตัดสินชี้ขาด แต่คณะอนุญาโตตุลาการมักจะใช้เวลาน้อยกว่าในการวินิจฉัยข้อพิพาทเป็นที่สุด
  • ความเชี่ยวชาญ เนื่องจากคู่พิพาททั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้เลือกอนุญาโตตุลาการเองจึงสามารถคัดเลือกผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องที่เป็นข้อพิพาทได้ตามความพอใจ
  • ความลับ เนื่องจากหลักการพิจารณาคดีของศาลต้องทำโดยเปิดเผย ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ทางธุรกิจ แต่กระบวนการต่างๆ ของการอนุญาโตตุลาการนั้นจะกระทำเป็นความลับ
  • ความเป็นที่สุดของคำชี้ขาด เนื่องจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการเป็นการระงับข้อพิพาทแบบชั้นเดียว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงถือเป็นที่สุดและยุติผูกพันคู่พิพาท การนำคำชี้ขาดไปสู่กระบวนการทางศาลเป็นเพียงขั้นตอนการบังคับหรือการเพิกถอนคำชี้ขาดเท่านั้น
  • ผลบังคับทั่วโลก ในคดีต่างๆ ส่วนมากคู่พิพาทจะยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยทันทีและยุติข้อพิพาทได้ แต่ในกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำชี้ขาด ฝ่ายที่ชนะคดีสามารถใช้มาตรการทางกฎหมายให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดต่อทรัพย์สินของอีกฝ่ายหนึ่งได้
    ในกรณีที่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศ การบังคับตามคำชี้ขาดมักกระทำในประเทศอื่นที่มิใช่ประเทศที่มีการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการหรือประเทศของฝ่ายที่ชนะคดี คำชี้ขาดจะได้รับการยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดได้โดยง่ายในระดับสากลมากกว่าคำพิพากษาของศาลในประเทศ เนื่องมาจากอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับ

2.7 ข้อจำกัดของการระงับข้อพิพาทโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ

ในอดีตมีหลายหน่วยงานได้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทแต่ปรากฏว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรจนกระทั่งคู่พิพาทหลายหน่วยงานมีแนวคิดที่จะไม่ใส่ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือถอนข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการออกจากข้อสัญญาเช่นเดียวกันเนื่องจากความไม่สะดวก และไม่มั่นใจในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ
ข้อพิพาทที่จะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นจะต้องเป็นกรณีพิพาททางแพ่งเท่านั้น ส่วนมากเป็นข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาประเภทต่างๆ

  • ไม่เหมาะกับข้อพิพาททุนทรัพย์ไม่มาก เนื่องจากกระบวนการอนุญาโตตุลาการมีค่าใช่จ่ายในการดำเนินการ
  • ค่าใช้จ่ายในกระบวนการพิจารณาบางครั้งสูง
  • ความเป็นอิสระและเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ
  • ไม่สามารถบังคับคดีได้ ต้องขอให้ศาลช่วยในการดำเนินการบังคับคดี

2.8 ประเภทของการอนุญาโตตุลาการ

การอนุญาโตตุลาการแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

  • การอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจกับการอนุญาโตตุลาการโดยสถาบัน
    - การอนุญาโตตุลาการเฉพาะกิจ (Ad Hoc Arbitration) เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่คู่พิพาทดำเนินการระงับข้อพิพาทตามวิธีอนุญาโตตุลาการด้วยตนเอง
    - อนุญาโตตุลาการโดยสถาบัน (Institutional Arbitration) เป็นวิธีการระงับข้อพิพาทที่คู่พิพาทตกลงระงับข้อพิพาทกันโดยใช้บริการของสถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งสถาบันดังกล่าวอาจเป็นสถาบันที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้บริการด้านอนุญาโตตุลาการโดยเฉพาะ เช่น สถาบันอนุญาโตตุลาการของสำนักงานศาลยุติธรรม ส่วนในต่างประเทศ เช่น สถาบันอนุญาโตตุลาการของสภาหอการค้าระหว่างประเทศ (International Chamber of Commerce - ICC) สมาคมอนุญาโตตุลาการของสหรัฐอเมริกา (American Arbitration Association - AAA)
  • การอนุญาโตตุลาการในศาลกับการอนุญาโตตุลาการนอกศาล
    - การ อนุญาโตตุลาการในศาล คือ การที่คู่พิพาททั้ง 2 ฝ่ายซึ่งมีคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลตกลงกันให้มีอนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ โดยความเห็นชอบของศาล (มาตรา 210-220 และ 222 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง)
    - การอนุญาโตตุลาการนอกศาล คือ การที่คู่พิพาทตกลงกันเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาชี้ขาด โดยไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งอาจตกลงกันไว้ล่วงหน้าก่อนมีข้อพิพาทหรืออาจตกลงกันภายหลังจากที่มีข้อพิพาทแล้วก็ได้
    การอนุญาโตตุลาการส่วนใหญ่ในนานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยนั้นเป็นการอนุญาโตตุลาการนอกศาล ซึ่งจะอยู่ภายใต้บังคับของ พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550
  • การอนุญาโตตุลาการในประเทศกับการอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ
    - การอนุญาโตตุลาการในประเทศ เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการในประเทศใดประเทศหนึ่ง ไม่ว่าคู่กรณีจะมีสัญชาติใด
    - การอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการที่ดำเนินการภายนอกประเทศ ไม่ว่าคู่กรณีจะมีสัญชาติใด

2.9 การตั้งและการคัดค้านอนุญาโตตุลาการ

ตามข้อบังคับของสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ หมวด 3 คำคู่ความและการส่งคำคู่ความ ในหัวข้อการตั้งอนุญาโตตุลาการ และการคัดค้านอนุญาโตตุลาการ ระบุไว้ดังนี้

  • การแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการ (Appointment of arbitrator) ให้มีอนุญาโตตุลาการ 3 คนเป็นผู้ชี้ขาด ประกอบด้วย บุคคลที่คณะกรรมการสถาบันอนุญาโตตุลาการเลือกจากบัญชีรายชื่ออนุญาโตตุลาการของสถาบันฯ ทำหน้าที่เป็นประธาน จำนวน 1 คน และบุคคลซึ่งคู่พิพาทแต่งตั้งอีกฝ่ายละ 1 คน
  • การคัดค้านอนุญาโตตุลาการ (Challenge of arbitrator) คู่พิพาทอาจยื่นหนังสือคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการได้ ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยในความเป็นอิสระหรือความเป็นกลาง ภายใน 15 วันนับแต่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุนั้น แต่ต้องก่อนวันที่อนุญาโตตุลาการสั่งปิดการพิจารณา

2.10 ข้อพิพาทอะไรบ้างที่สามารถระงับได้ด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการ

วิธีการอนุญาโตตุลาการจะสามารถใช้ระงับข้อพิพาทที่เกี่ยวกับข้อพิพาททางแพ่งและพาณิชย์ทั้งปวงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยที่สามารถนำไปฟ้องร้องคดีต่อศาล เช่น สัญญาซื้อขาย สัญญาจ้างทำของ สัญญาจ้างก่อสร้าง ข้อพิพาททางปกครองระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน เป็นต้น แต่หากเป็นข้อพิพาททางอาญา ได้แก่ กรณีที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นความผิดทางอาญาหรือมีโทษทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นการจำคุก กักขัง หรือปรับ จะไม่สามารถให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องเหล่านี้ได้ จะต้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน

2.11 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาโตตุลาการ

  • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 210 ถึงมาตรา 220, 222 และมาตรา 221
  • พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2550
  • พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร พ.ศ. 25..
  • พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำออกตามความในพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521
  • ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2544

2.12 ประเด็นที่เป็นข้อพิพาทในงานวิศวกรรม

ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นและนำไปสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกว่า 70% เป็นข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาจ้างทำของ โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารหรือโรงเรือน โรงงานต่างๆ ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม เกือบทั้งหมดอาทิเช่น

  • ค่าปรับจากการทำงานล่าช้า
  • ค่าใช้จ่ายในการประกวดราคาใหม่
  • ค่ารื้อถอนอาคารที่สร้างไม่ถูกต้อง
  • ค่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่
  • ค่างานเพิ่ม – ลด
  • ค่าจ้างคนดูแลสถานที่
  • เรียกเงินประกันผลงานคืน
  • เรียกค่าก่อสร้างที่ค้างชำระ
  • ค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ
  • ค่าเสียหายจากการก่อสร้างชำรุดบกพร่อง
  • ค่าจ้างบุคคลอื่นมาแก้ไขความชำรุดบกพร่อง

2.13 การดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการภายนอกศาล

ขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการภายนอกศาล ซึ่งตามพ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 และข้อบังคับว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ ในกรณีที่คู่พิพาทตกลงกันไว้ในสัญญาว่าจะใช้การอนุญาโตตุลาการ เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นโดยไม่ฟ้องคดีต่อศาล สามารถดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการได้ดังต่อไปนี้



รูปที่ 1 แผนผังแสดงขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาอนุญาโตตุลาการนอกศาล

3. สรุป

คงไม่มีบุคลากรทางด้านวิศวกรรมท่านใดประสงค์ที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคู่พิพาทไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผู้ร้องหรือฝ่ายผู้คัดค้าน แต่ในความเป็นจริงงานทางด้านวิศวกรรมเกือบทั้งหมดเป็นสัญญาจ้างทำของ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าสัญญาก่อสร้าง ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในระหว่างดำเนินการตามสัญญา ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องควรทำความเข้าใจในเนื้อหาของสัญญาว่าสัญญาที่ท่านเป็นผู้รับผิดชอบนั้นระบุถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาข้อพิพาทอันอาจเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติงานหรือในอนาคต โดยจะทำให้ท่านพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาข้อพิพาทเหล่านั้นได้อย่างถูกต้อง และเมื่อท่านได้ทราบถึงหลักการ ขั้นตอนของการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการพอสังเขปจากบทความข้างต้นพร้อมกันนี้ควรศึกษาเพิ่มเติมในรายละเอียดจากเอกสารทางวิชาการหรือบทความที่เกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ท่านทราบถึงแนวทางในเตรียมการป้องกันและหากเกิดปัญหาข้อพิพาทขึ้นท่านจะสามารถนำข้อพิพาทเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการได้อย่างมืออาชีพ

กิตติกรรมประกาศ

ผู้เขียนใคร่ขอขอบคุณคณะผู้จัดทำเว็บไซต์ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ศาลยุติธรรม http://www.library.coj.go.th/ คณะผู้จัดทำเว็บไซต์กระบวนการยุติธรรมไทย ของสำนักกิจการยุติธรรม htt://www.thaijusticeprocess.org/ และขอขอบพระคุณ อาจารย์ปรัชญา อยู่ประเสริฐ ที่ได้กรุณาให้ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการอนุญาโตตุลาการรวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอนุญาโตตุลาการ รวมถึงนักวิชาการและนักปฏิบัติทางการกฎหมายทั้งหลายที่มิได้เอ่ยนามในบทความนี้ที่ได้เสียสละเวลาในการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ไว้ในเว็ปไซด์ต่าง ๆ ขอขอบคุณคณะผู้จัดทำเว็ปไซด์กูเกิลล์ ที่ให้ผู้เขียนได้ใช้สำหรับเป็นแหล่งเครื่องมือหลักในการสืบค้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการเขียนบทความฉบับนี้
ท้ายนี้ผู้เขียนใคร่ขอขอบพระคุณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสรีย์ ตู้ประกาย ที่ได้กรุณาให้โอกาสผู้เขียนได้ศึกษาเรื่องการอนุญาโตตุลาการกับงานวิศวกรรม จึงทำให้เกิดบทความ ความรู้เบื้องต้นของการระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม


เอกสารอ้างอิง
[1] เรือเอก อานนท์ ไทยจำนง, 2548. ปัญหาและแนวทางการใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการเพื่อการระงับ/ยุติข้อพิพาทในงานก่อสร้าง กรณีสัญญาก่อสร้างงานราชการ. วิทยานิพนธ์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.
[2] ปรัชญา อยู่ประเสริฐ, 2552. การอนุญาโตตุลาการสำหรับบุคลากรทางการก่อสร้าง. กระบวนการระงับข้อพิพาทในงานวิศวกรรม, วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูประถัมภ์
[3] กฎหมายและข้อบังคับว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ, สถาบันอนุญาโตตุลาการ. สำนักงานศาลยุติธรรม
[4] การอนุญาโตตุลาการ, สถาบันอนุญาโตตุลาการ. สำนักงานศาลยุติธรรม
[5] คู่มือการระงับข้อพิพาทสำหรับประชาชน, สถาบันอนุญาโตตุลาการ. สำนักงานศาลยุติธรรม
[6] ปรัชญา อยู่ประเสริฐ และคณะ, 2550. หัวข้อ การระงับข้อพิพาททางเลือกในความท้าทายใหม่ของการพัฒนากระบวนการยุติธรรม : ประชาชนได้ประโยชน์อะไร. การประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 5, ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
[7] รศ. ดร.กอบกุล รายะนาคร, การระงับข้อพิพาทโดยสันติ. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. http://www.law.cmu.ac.th/admin/journal/up_pic/62512.ppt

ประวัติผู้เขียน
นายปราโมทย์ ชาญบัณฑิต คอ.บ. (โยธา) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ผู้จัดการฝ่ายก่อสร้าง ในเครืออมตะกรุ๊ป